เรื่องของไม้ (๒) คมฝาก คมแฝก

ถ้าใครเห็นคนถือท่อนไม้หน้าตัดสี่เหลี่ยม ยาวเท่าศอกหรือแขน ขนาดจับถือพอดีมือ เหวี่ยงฟาดได้คล่องแคล่วรวดเร็ว เกือบทั้งหมดจะบอกว่านั่นคือ “คมแฝก” ไม่ว่าจะเคยได้ยินเรื่องราวของอาวุธชนิดนี้จากเรื่องเล่าของนักเลงสมัยก่อน ที่นิยมพกอาวุธชนิดนี้ด้วยการเหน็บหรือขัดกับผ้าขาวม้า หรือจากละครทีวีเรื่องดัง ที่ทำให้คำๆ นี้เป็นที่รู้จักกันอีกครั้งในสมัยปัจจุบัน

53701_520931954665845_1208532768_o

แต่หากเห็นเพียงนั้นจะบอกว่าเป็นคมแฝกเลยก็ดูเหมือนทึกทักกันเกินไป เพราะอาวุธไทยนั้นมีหลากหลายประเภทและเรื่องราวมากมาย ซึ่งคมแฝกก็เช่นเดียวกัน

คมแฝกมีลักษณะเป็นไม้แท่ง หน้าตัดสี่เหลี่ยม ส่วนใหญ่ที่รู้จักกันจะเป็นหน้าตัดสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน แต่ก็ยังมีประเภทที่เป็นเป็นทรงป้านคือเกือบจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสก็มี ขนาดความยาวแตกต่างกันไปตามรูปแบบการจับถือ เช่น คมแฝกศอก เป็นไม้ที่ยาวถึงแค่ศอก กำจับด้ามแล้วพอดีกำปั้น ด้ามไม่เหลือโผล่ ในขณะที่คมแฝกแขน จะมีขนาดยาวขึ้น เมื่อกำจับแล้วจะเหลือด้ามยื่นออกมา ซึ่งส่วนด้ามที่ยื่นนั้นอาจจะทำเป็นทรงหางปลา หรือทรงกลม หรืออื่นๆ ตามความต้องการของผู้ใช้

คมแฝกยังสามารถแยกตามการใช้งานเป็น ๓ ประเภทใหญ่ คือ

๑ ไม้ตอก เป้นคมแฝกขนาดเล็กสุด ยาวประมาณศอก พกเหน็บตามชายผ้าขาวม้า ไม่จำกัดชนิดของไม้ที่นำมาทำเพราะเป็นไม้ทีเผลอ ใช้แล้วทิ้ง

๒ ไม้ตัดและไม้ตี เป็นคมแฝกขนาดปกติที่เห็นหรือรู้จักกันโดยทั่วไป เป็นอาวุธที่นักเลงหรือนักสู้ใช้ เพราะพกง่ายและสะดวกกว่าดาบ ยิ่งคนที่มีฝีมือใช้แล้ว บางครั้งปะทะกับดาบก็ยังไหวเลยทีเดียว สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างไม้ตัดและไม้ตีคือหน้าตัด หน้าตัดสี่เหลี่ยมเปียกปูนจะเป็นไม้ตัด ซึ่งมีลักษณะแคบบาง กินลมดี ในขณะที่หน้าตัดเกือบสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือทรงป้่าน จะเป็นไม้ตี ซึ่งจะให้น้ำหนักในการตีการหวดมากกว่า แม้จะไม่คล่องแคล่วเท่าไม้ตัด

๓ ไม้ตรึง เป็นคมแฝกที่มีขนาดยาวและใหญ่ที่สุด บางเล่มยาวเท่าไม้หาม ไม้คานเลยทีเดียว คมแฝกประเภทนี้ ใช้สำหรับเฝ้าบ้าน โดยมักจะวางบนคานบ้าน คนแก่ สาวๆ หรือเด็กๆ สามารถใช้งานได้ หน้าที่ของคมแฝกชนิดนี้ก็ตามชื่อคือเพื่อตรึงผู้บุกรุก ไม่ให้เกินเลยเข้ามา

คมแฝกใช้สันหรือคมตีเข้าหาคู่ต่อสู้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นสำคัญ เพราะอาจจะเปราะ และเมื่อตีกันแล้ว อาจแตกหักเป็นเสี้ยนได้ ไม้ที่เหมาะสมจึงควรเป็นไม้ที่แกร่ง แข็ง เหนียว ทนสภาวะของกาลอยู่นาน เช่น กระถิน ซึ่งชนิดของไม้ก็เป็นตัวกำหนดระยะการใช้งานด้วยเช่นกัน

คมแฝกนั้นมีวิธีการใช้ใกล้เคียงกับดาบ บางครั้งจึงสับเปลี่ยนใช้แทนกันได้ ทำให้คมแฝกก็มีใช้ทั้งคมแฝกเดี่ยวและคมแฝกคู่

นอกจากนี้ คมแฝกก็มีอาวุธคู่ของตัวเอง เหมือนดิ้วก็มีดุ้ย นั่นคือคมฝาก หรือที่เรียกว่าไม้หน้าสาม เป็นไม้ขนาดความยาวเหมือนคมแฝก แต่หน้าตัดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สี่เหลี่ยมจัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมคางหมู เวลาต่อสู้อาจจะแตกต่างกับคมแฝกอยู่บ้างเพราะผู้ใช้ต้องประกบมือประสานคมฝากอยู่ตรงกลาง แต่อานุภาพก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

คมฝากมีหลายลักษณะ เช่น คมฝากหัวบาก คมฝากฝาโลง ฯลฯ ตามแต่การใช้งานและความถนัด

This entry was posted in มวยโบราณ, อาวุธไทย and tagged , , , , , , , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment